ประเด็นร้อน

ผู้นำคุณธรรม 4.0 เมล็ดพันธุ์ใหม่ ปลูกเปลี่ยนประเทศไทย

โดย ACT โพสเมื่อ May 18,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -

 

ว่ากันว่า หากเราอยากจะ "เปลี่ยนประเทศไทย" ไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ได้จริง สิ่งสำคัญอันดับแรก คือจะต้องเปลี่ยนคน ในชาติเสียก่อน

 

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ กำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน พวกเขาได้แข่งกันสร้างคุณลักษณะพึงประสงค์

 

เช่น คนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัย และ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ขณะที่มาเลเซีย ได้กำหนดคุณลักษณะของคนในชาติไว้ใน "พิมพ์เขียวยุทธศาสตร์ชาติมาเลเซีย" หรือ Malaysia Blueprint กำหนดวิสัยทัศน์ 2020 ไว้ว่า ต้องเสริมสร้างความสามัคคีคนในชาติ และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเป็นระบบ เช่นเดียวกับสิงคโปร์  ที่กำหนดคุณลักษณะของคนในชาติ ในแผนการศึกษาชาติไว้ว่า "โรงเรียน นักคิด ชาติแห่งการเรียนรู้"

 

ลองหันมองกลับมาที่ประเทศไทย เมื่อวันนี้รัฐบาลตั้งเป้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้ก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 "คุณภาพของคนในชาติ" จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องบ่มเพาะ

 

ที่สำคัญ วินัย คุณธรรม และจริยธรรมของคนในชาติ คือส่วนสำคัญที่จะฝ่าวงล้อมวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ในระยะยาว ดังนั้น  ก้าวแรกก่อนจะเป็น "คนไทย 4.0" ในอีก 20 ปีข้างหน้า

 

ก้าวสำคัญที่เราอาจต้องเริ่ม คือ การปรับไมนด์เซ็ต (Mind Set) คนไทยกันเสียใหม่ เพื่อให้เป็น "คนไทย" ที่มี "คุณธรรม 4.0" กันตั้งแต่วันนี้

 

"คุณธรรม" วิกฤตในสังคมไทย

 

เมื่อการสร้างคนของประเทศให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ คืออีกหมุดหมายการขับเคลื่อนและมิชชั่นสำคัญของรัฐ ในวันนี้ทุกฝ่ายจึงร่วมกันกลั่นกรอง และ ร่างยุทธศาสตร์ ไปจนถึงวางแผนกระบวนการ จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคม รวมถึงผ่านการวิจัยกับกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ นำมาสู่การวางเป้าหมายพัฒนาให้คนไทยมีคุณธรรม ภายใต้คุณธรรมที่พึงประสงค์ 5 ประการ ได้แก่ "ความพอเพียง มีวินัย สุจริต  จิตอาสา และรับผิดชอบ"

 

ซึ่งที่มาของการคัดเลือก 5 หัวข้อ ดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากการสำรวจ ความคิดเห็นสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย โดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ 1-20 สิงหาคม 2559 กับจำนวน 2,166 คน พบว่า

 

ปัญหาวิกฤตด้านคุณธรรมที่มีความรุนแรงในสังคมไทย อันดับ 1 คือ ปัญหาความซื่อสัตย์ สุจริต การทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 20.73 อันดับ 2 ปัญหาขาดความสามัคคี เกิดความขัดแย้งในสังคม ร้อยละ 19.3 อันดับ 3 ปัญหาจิตสำนึกสาธารณะ ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ร้อยละ 14.69 อันดับ 4 ปัญหาขาดระเบียบวินัย ไม่เคารพกติกา กฎหมาย ร้อยละ 12.51 สำหรับคุณธรรมที่เยาวชนไทยควรได้รับการปลูกฝัง 5 อันดับพบว่า ร้อยละ 76.59 เป็นเรื่องระเบียบวินัยมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 75.35 ความซื่อสัตย์ สุจริต ร้อยละ 57.94 น้ำใจ/เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ร้อยละ 52.82 ความกตัญญูกตเวที และร้อยละ 47.51 ความขยันหมั่นเพียร

 

ผลการสำรวจเหล่านี้สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิดใหม่ของคนไทยโดยสร้างคุณลักษณะพึ่งประสงค์ 5 ข้อ รวมถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน

 

ปั้น Change Agent คุณธรรม

 

ระหว่างที่ฝ่ายนโยบายกำลังเดินหน้ากับยุทธศาสตร์สร้างคน อีกมุมหนึ่งนั้นก็ยังเดินหน้าสู่ภาคปฏิบัติจริง ผ่านกิจกรรมนำร่องครั้งแรก กับ "ค่ายเยาวชนปิดเทอมสร้างสรรค์ ตอน เปิดกล่องแห่งการเรียนรู้ ผู้นำคุณธรรม 4.0"

 

เวิร์คช็อปดังกล่าว จัดขึ้นสำหรับกลุ่ม Change Agent รุ่นเยาว์ โดยเลือกตัวแทนของสภาเด็กและเยาวชน 70 จังหวัด และแกนนำเยาวชนจาก 4 ภูมิภาค เพราะหลายฝ่ายมองว่า งานนี้จะได้ผลดีที่สุด อาจต้องเริ่มต้นที่กลุ่ม "เยาวชน" ที่จะก้าวเป็นผู้นำคุณธรรม 4.0 เป้าหมายแรก จึงเกิด ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จัดขึ้นที่บ้าน ผู้หว่าน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

ในฐานะผู้ใหญ่ฝ่ายนโยบาย สุทธิ จันทรวงษ์ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน บอกเล่าถึงที่มาของกิจกรรมว่า คุณลักษณะของคนในประเทศที่มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม จะมีส่วนสำคัญที่จะฝ่าวงล้อมวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ จึงวางเป้าหมายพัฒนาให้คนไทยมีคุณธรรมที่พึงประสงค์ 5 ประการ โดยคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน และแกนนำกลุ่มเยาวชน ถือเป็นการต่อยอดขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมในการสร้างผู้นำในสภาเด็กและเยาวชน เพราะเชื่อในพลังของเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ หรือเป็น Change Agent ที่สำคัญ

 

"เรื่องนี้เป็นภารกิจยาว ที่ต้องใช้การทำงานความร่วมมือกันของหลายหน่วยงานช่วยกันขับเคลื่อน" ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวถึงกิจกรรมดังกล่าว

 

โดยเอ่ยต่อว่าการเปลี่ยน(พฤติกรรม) คนในประเทศต้องเข้าไปเปลี่ยนที่กระบวนการเรียนรู้ ระบบการศึกษา  การเรียนรู้ นโยบาย กฎหมาย ไปจนถึงหน่วยเล็กที่สุดคือครอบครัว ซึ่งกิจกรรมนี้ ไม่ได้เพียงมุ่งหวังการสร้างความเปลี่ยนแปลง คุณธรรม 4.0 ให้เห็นผลในกลุ่มเครือข่ายเยาวชน แต่ยังเป็นการส่งเสริมการใช้เวลาว่าง ให้เกิดประโยชน์ในช่วงปิดเทอมอีกด้วย

 

"เรามองว่าเด็กยุคนี้มีปัญหาเยอะ  การที่เขามีพื้นฐานในเรื่องความคิด  มีคุณธรรมศีลธรรมประจำใจที่ดีมันก็นำไปสู่อนาคตที่ดีกว่าของทั้งตัวเขาเองและประเทศชาติ ซึ่งในตัวเนื้องาน สสส.ช่วยผลักดันหลายส่วน ทั้งส่วนนโยบาย และเรากำลังทำเรื่องข้อมูลวิชาการมาเสริม นอกจากนี้ เรามีภาคีเครือข่ายเยอะที่ทำงานภาคสังคมด้านนี้ จึงมองว่าน่าจะผนวกนำทั้ง 5 ตัวนี้เข้าไปในแผนงานด้วย รวมถึงในการสื่อสาร รณรงค์และประชาสัมพันธ์ ที่เป็นจุดแข็งของ สสส. ซึ่งเรามองว่ากิจกรรม ในกลุ่มเด็กที่เราทำเวิร์คช็อปต่างๆ จะนำมาสื่อสารต่อยอด เพราะเราจะปลุกระดมพลังสังคมต่อไป"

 

เมล็ดพันธุ์คุณธรรม

 

หากอยากรู้ว่า Change Agent  กลุ่มนี้ไฟแรงแค่ไหน ลองมาฟังหนึ่งในตัวแทนที่เอ่ยว่าจะนำแนวคิดและรูปแบบ ที่ได้จากค่ายจะเป็นตัวอย่างกิจกรรมไปขยายผลต่อ ศตวรรษ จันทร์รักษ์ หรือ  ก๊อต รองประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดพัทลุง บอกเล่าถึงเป้าหมายการ เข้าค่ายเที่ยวนี้ เขาคาดหวังว่าจะได้ ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้ แล้วจะนำไปถ่ายทอดในพื้นที่ตามวัตถุประสงค์

 

"สนใจเรื่องความซื่อสัตย์ เพราะมองว่า เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ในระดับบุคคล ที่ควรทำตั้งแต่เด็ก ผมมองว่าคุณธรรม คือจิตสำนึก การคิดดี สร้างสรรค์ ไม่เห็นประโยชน์ ส่วนตัว มันเป็นหลักพื้นฐานที่คนเรา ต้องมีตลอด"

 

ก็อตเล่าว่า ปัญหาที่เขาอยากเปลี่ยนแปลงในชุมชนมากที่สุด คือปัญหาด้านครอบครัว เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ได้ทำให้พฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ในชุมชนเปลี่ยนตาม

          "ทุกวันนี้พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่สนใจเด็ก เล่นการพนัน กินเหล้าสูบบุหรี่ ปล่อยให้เด็กอยู่กับมือถือ หัดขี่มอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ สิบกว่าขวบ เสพสื่อไม่สร้างสรรค์ แต่ผมอยากให้ชุมชนกลับมาน่าอยู่เหมือนเมื่อก่อน เช่น เด็กวิ่งเล่นปั่นจักรยานไปเล่นน้ำกัน  แต่เรารู้ว่าคนเดียวคงเปลี่ยนไม่ได้ แต่เชื่อว่า สามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเยาวชนในสังคม ที่หากมีมากขึ้นก็จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้"

 

จากเด็กที่อยู่มุมเล็กๆ สังคมที่ไม่เคยคิดอะไร ก็อตเปลี่ยนตัวเองเป็นเด็กที่ทำเพื่อส่วนรวม ก็อตกลายเป็นเยาวชนที่ชอบการเข้าค่ายกิจกรรม เพราะมองว่าการฝึก ที่ไม่มีในห้องเรียน เขาทำงานตรงนี้ เข้าปีที่ 5 แล้ว

 

"ก่อนหน้านี้เราไม่กล้าพูด แสดงออก แต่ตรงนี้มีเวทีให้เราได้ทำกิจกรรม มันซึมซับเข้ามาเรื่อยๆ บางครั้งเราเห็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง เราไม่ดูดายพยายามเข้าไป ช่วยเหลือ มันพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และโอกาสที่เราไม่ได้รับ"

 

อีกหนึ่งเสียงสะท้อนจาก "แบม" กชกร รุ่งสว่าง สาวน้อยประธานสภาเด็กและเยาวชน จังหวัดนครนายก เป็นอีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เชื่อว่าคุณธรรมสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

 

"ที่ชอบโครงการนี้ เพราะคุณธรรม 4-5 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราคิดอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญคือเราจะเริ่มต้นหรือฝังเข้าไปในกลุ่มเพื่อนๆ น้องๆ เยาวชนของเรายังไงให้เขามีจิตสำนึกเรื่องเหล่านี้"

 

พอมีโอกาสร่วมกิจกรรมครั้งนี้ แบมเล่าว่าพยายามรูปแบบกิจกรรมแต่ละอย่างที่เขาถ่ายทอดให้ เพื่อนำไปใช้ต่อในกิจกรรมที่จะทำกับชุมชน

 

"ถ้าอันไหนที่เรามองว่า เออ  มันน่าสนใจ โดนใจและเข้าถึงง่าย ก็จะเอาอันนั้นไปทำต่อยอด แบมว่าสำหรับเด็กแล้วเรื่องสำคัญที่สุดคือการเล่น แม้แต่การถ่ายทอด ถ้าเราสอนวิชาการสำหรับเด็กแล้วมันดูน่าเบื่อไงคะ จากประสบการณ์ของ ตัวเอง เวลาทำกิจกรรมเราจะไม่ให้น้องจด ทุกอย่างเกิดจากเรียนรู้และจดจำกันไปเอง เพราะถ้าเราทำกิจกรรมแล้วสอดแทรกอะไรเข้าไปด้วย มันทำให้เขาสนุกที่จะเรียนรู้ และจำได้มากกว่า"

 

ในเรื่องคุณธรรม แบมมีความเห็นว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้หมด แต่ยากที่สุดสำหรับคนไทย คือวินัย

 

"ส่วนเรื่องความพอเพียง เป็นเรื่องที่ว่า น่าสนใจและแปลกใหม่สำหรับพื้นที่เรา เพราะเรามองว่าถ้าคนเรารู้จักเริ่มต้นจากความพอเพียง อาจไม่เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ขึ้นมาได้ ถ้าเราจะไม่อยากได้อยากมี  ไม่ใช้สิทธิ์หรือล่วงล้ำคนอื่นมากไป  ไม่นึกถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวอย่างเดียว"

 

เป้าหมายของแบมคืออยากเป็น เมล็ดพันธุ์หนึ่งที่เติบโตในสังคม ทำให้สังคมดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นภาระสังคม  จึงทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาตั้งแต่เด็ก จนถึง วันนี้เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังมีพลังทำอะไรอีกเรื่อยๆ

 

"เด็กกลุ่มนี้มีความแอคทีฟ มีความพร้อมอยากเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นนักกิจกรรมที่จิตอาสา เราจึงมองว่าคนกลุ่มนี้ เราเอามาพัฒนาศักยภาพให้เขากลับไปทำงาน ซึ่งที่จริง สสส.ไม่ได้หนุนอะไร ให้มาก แต่สิ่งที่เราให้คือข้อมูลและ การเสริมศักยภาพ ที่เหลือคือสิ่งที่เขา ต้องคิดวิเคราะห์เอง ว่าอยากทำอะไร  ไม่มีการตั้งโจทย์บังคับ เพราะเราอยากฝึกให้เขาคิด เพราะโครงการนี้ต้องการสร้างเด็กให้คิดเป็น โดยเขาต้องเอาปัญหา ที่เกิดในชุมชนตัวเองเป็นตัวตั้ง 5 ข้อ นี่คือสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหาสำคัญ  แต่ในแต่ละพื้นที่อาจมีปัญหาที่แตกต่างหรือไม่เหมือนกัน เขาอาจไม่จำเป็นต้องเน้นโจทย์ของประเทศตามนี้" ดร.นพ.ไพโรจน์ เอ่ยทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw